โรงเรียนรัตนศึกษา (สังกัด สช.) ประสบผลสำเร็จการแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ รับรางวัลระดับประเทศ รวม 6 ครั้งติดต่อกัน

ดร.กอบภณ แสงสมบัติ ศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า โรงเรียนรัตนศึกษา  เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตั้งอยู่ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3  ได้เข้าร่วมการแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และได้รับรางวัลในระดับประเทศทุกครั้ง จำนวน 6 ครั้งติดต่อกัน  ล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 รับมอบถ้วยเกียรติยศจากท่านองคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

     

โรงเรียนรัตนศึกษา เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตั้งอยู่ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ๑ จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น ๕๐๓ คน บริหารงานโดย ดร.ณิชา ฉิมทองดี ผู้อำนวยการโรงเรียน   ได้รับรางวัลการแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับประเทศ ติดต่อกัน รวม  ๖ ครั้งด้วยกัน ดังนี้

ครั้งที่ 21  ปี พ.ศ. 2559 รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับประถมศึกษาตอนปลาย   รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 

ครั้งที่ 22  ปี พ.ศ. 2560 รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับประถมศึกษาตอนปลาย  รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 

ครั้งที่ 23  ปี พ.ศ. 2561  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับประถมศึกษาตอนปลาย  รับถ้วยเกียรติยศจากศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน  อมรวิวัฒน์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561

ครั้งที่ 24  ปี พ.ศ. 2562  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รับถ้วยเกียรติยศจากท่านองคมนตรี พลอากาศเอก กำธน  สินธวานนท์   เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562

ครั้งที่ 25 พ.ศ. ปี 2563  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4 การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รับถ้วยเกียรติยศจากท่านองคมนตรี  นายจรัลธาดา  กรรณสูต  เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563 

ครั้งที่ 26  ปี พ.ศ. 2565 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  รับถ้วยเกียรติยศจากท่านองคมนตรี นายอำพน  กิตติอำพน  เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566     

 

  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ที่ปรึกษา ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 เพื่อสืบสานการดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะให้มีหนังสือสารานุกรมแบบไทย ที่จัดทำโดยคนไทย เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในประเทศไทย ให้คนไทยทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสอ่าน เพื่อเพิ่มพูนและส่งเสริมความรู้ในวิชาการสาขาต่าง ๆ

  ดร.ณิชา ฉิมทองดี ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนศึกษา กล่าวว่า ทางโรงเรียนส่งนักเรียนเข้าร่วมประกวดการแข่งขันตอบคำถามจากสารานุกรมไทย  ครั้งแรกในปี 2559 เป็นต้นมา ได้รับรางวัลทุกปีที่เข้าร่วมแข่งขัน อาทิ ในปี 2559 และ 2560 รางวัลชนะเลิศ รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ปี 2561 -2563 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และ รองชนะเลิศอันดับ 4 ตามลำดับ  และในปีนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3  และได้รับมอบถ้วยเกียรติยศจากท่านองคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 นักเรียนที่เข้ารับรางวัลคือ  เด็กหญิงณัฐกานต์ ปานหว่าง  เด็กหญิงชนิกานต์ สมจิตร์  และ  เด็กหญิงสาธิตา ดิษฐ์กระจัน

ดร.ณิชา กล่าวต่ออีกว่า รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้ช่วยขับเคลื่อนการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9  โดยส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์และทรงคุณค่า  ดังเช่น หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  ที่ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับชาติไทย ความเป็นไทย มรดกของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้สืบค้น  เพื่อเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของไทย  นอกจากภูมิปัญญาและศิลปะที่เป็นมรดกของไทยแล้ว  สารานุกรมไทยฯ ยังมีศาสตร์วิทยาการที่ทันสมัยของสรรพวิชาการต่างๆ ไว้ครบทุกแขนง สารานุกรมไทยฯไม่เพียงทำให้เรารู้หยั่งลึกไปถึงรากเหง้าของชาติ แต่ทำให้เรารู้กว้างไปในศาสตร์สาขาต่างๆ และรู้ทันวิทยาการที่ทันสมัยอีกด้วย

 

 

“การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าถึงหนังสือสารานุกรมไทยฯ และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการนำความรู้จากสารานุกรมไทยฯไปใช้ต่อยอด สร้างสรรค์ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างผู้รู้ ผู้สร้างและผู้พัฒนาในอนาคต”

 

โรงเรียนรัตนศึกษาจึงส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนค้นคว้าและนำความรู้มาต่อยอดเป็นโครงงาน โดยใช้สารานุกรมไทยฯ เป็นฐาน นักเรียนแต่ละชั้นจะค้นคว้าเรื่องที่สนใจ และนำเสนอเป็นโครงงานของห้องเรียน ทุกๆภาคเรียน โรงเรียนจึงแนะนำหนังสือสารานุกรมไทยฯ ที่นักเรียนควรค้นคว้าให้เหมาะกับช่วงวัยของนักเรียน สำหรับนักเรียนชั้น ป.1-ป.3 ที่เป็นเด็กเล็ก มีความสนใจในเรื่องใกล้ตัว และรู้จักตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์นั้น เหมาะกับหนังสือสารานุกรมฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ที่พิมพ์สีทั้งเล่ม มีภาพประกอบที่น่าสนใจ และจัดหมวดเป็นชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น หนังสือสารานุกรมไทยฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่มที่ 16 เรื่อง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นชุดความรู้เกี่ยวกับพืชสำคัญทางเศรษฐกิจ  หรือหนังสือสารานุกรมไทยฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่มที่ 12 เรื่อง  ช้าง ม้า วัวควาย เป็นชุดความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่สำคัญของชาวไทย  เป็นต้น   การค้นคว้าเริ่มต้นจากความสงสัยและการตั้งคำถาม นักเรียนจึงได้ค้นคว้าจากเรื่องที่สนใจ และรู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์ เชื่อมโยงคำตอบที่ค้นพบอย่างมีความหมายและสัมพันธ์กับชุดความรู้ในเรื่องอื่นๆด้วย  จึงเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามและภูมิใจในคำตอบที่ค้นพบได้จากหนังสือ แหล่งความรู้อื่น หรือจากการทดลองด้วยความอยากรู้ของตนเอง การเรียนรู้และการค้นคว้าจากสารานุกรมไทยฯ จึงมีความหมายและสร้างนิสัยของนักค้นคว้าให้แก่เด็กในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับเด็กโต ชั้น ป.4- ม.3 ในวัยที่อยากรู้ อยากลองและค้นหาความถนัดของตนเอง จึงมีความสนใจในเรื่องต่างๆที่หลากหลาย และใคร่รู้เรื่องต่างๆแบบรู้ลึก รู้จริง  ดังนั้นทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมถึงวิทยาการทันสมัยที่รวบรวมอยู่ในสารานุกรมไทยฯ กว่า 42 ฉบับ จึงเป็นแหล่งความรู้สำคัญที่จุดประกายความสงสัย และชี้ชวนให้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อท้าทายนักเรียนให้อยากทดลองและอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้  โดยทำให้มีความหมายกับนักเรียนยิ่งขึ้นด้วยการเชื่อมโยงกับอาชีพของครอบครัว หรือปัญหาใกล้ตัวในชุมชน  เด็กที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ จึงภูมิใจกับผลงานที่ตนเองและเพื่อนร่วมกันค้นคว้า ทดลอง สร้างผลงานเป็นโครงงานที่ช่วยเหลือผู้อื่นและมีประโยชน์ต่อชุมชนได้

 

นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยฯ ภายในโรงเรียนเป็นประจำทุกปี เพื่อสนับสนุนนักเรียนที่มีนิสัยรักการอ่านและสร้างเวทีท้าทายความสามารถของนักเรียน เป็นกิจกรรมระหว่างระดับชั้นที่สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน หลังจากนั้นจะคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในระดับจังหวัด   โดยส่งทีมเข้าแข่งขันทั้ง 2 รายการ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

การแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยฯ กรรมการจะเลือกกำหนดเล่มสารานุกรมไทย ประมาณ 3-5 เล่มให้นักเรียนได้ศึกษา ทำความเข้าใจความรู้ที่หลากหลายในเล่มนั้นๆ   เด็กที่มีความถนัดในด้านต่างๆและความสนใจที่แตกต่างกันจึงรวมกันเป็นทีมนักอ่านของโรงเรียน ที่ชนะเลิศการแข่งขันระดับจังหวัด คว้ารางวัลจากการแข่งขันระดับภาค และผ่านเข้ารอบจนไปถึงการแข่งขันระดับประเทศได้ ครูผู้ควบคุมทีมจึงต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบ “พาอ่าน-ชวนคิด”  กระตุ้นทีมนักอ่านด้วยการตั้งคำถามในหลายระดับการเรียนรู้  ทั้งความเข้าใจ การวิเคราะห์ ประเมินค่าและสร้างสรรค์  และให้นักอ่านเชื่อมโยงคำตอบกับความรู้เดิมของตนเอง สร้างเป็นความรู้ใหม่ในแบบฉบับของตนเองที่ไม่เหมือนใคร  บรรยากาศในการเรียนรู้แบบนี้จึงทำให้การพลิกหน้าหนังสือแต่ละหน้านั้น  มีความหมายต่อนักอ่านในทีมทุกคน

 

 แม้ว่านิสัยรักการอ่าน ฉลาดคิด รู้จักเชื่อมโยงความรู้นั้นจะเป็นลักษณะสำคัญของนักอ่านในทีม แต่การจะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน  ทีมนักอ่านจะต้องมีคุณลักษณะสำคัญ  4 ประการ ตามหลักอิทธิบาท 4 ได้แก่  1) ฉันทะ-มีใจรักในการแสวงหาความรู้  ชื่นชอบในการอ่านและการหาคำตอบ   2) วิริยะ-มุ่งมั่นทุ่มเทในการทำความเข้าใจความรู้จากสารานุกรมไทยฯ หมั่นฝึกฝนตนเองอย่างไม่ย่อท้อ    3) จิตตะ-เอาใจใส่จดจ่อกับเรื่องราวที่กำลังอ่าน  รับผิดชอบความรู้ที่กำลังอ่าน  โดยจดจำ ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ประเมินค่าความรู้นั้น  4) วิมังสา-ทบทวนความรู้ในเรื่องต่างๆ ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบรู้และรอบคอบ

       การขับเคลื่อนการอ่านหนังสือสารานุกรมไทยฯในโรงเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี โดยได้รับความร่วมมือจากคณะครูหลากหลายความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาเอกที่มาอธิบายเพิ่มเติมและชวนคิด  ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาช่วยต่อยอดความรู้ให้นักเรียนสร้างเป็นผลงานในโครงงาน  และแรงสนับสนุนจากผู้ปกครองที่ช่วยสนับสนุน ให้คำแนะนำและชี้แนะการสร้างสรรค์ผลงานที่ต่อยอดในอาชีพของผู้ปกครองได้  ความสำเร็จของโรงเรียนในครั้งนี้จึงการันตีได้จากรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ที่ได้รับในทุกปีอย่างต่อเนื่อง  และยังมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่สร้างโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จากสารานุกรมไทยฯ

      การอ่านที่จุดประกายความรู้ สร้างสรรค์โครงงานโดยใช้สารานุกรมเป็นฐาน และการเข้าร่วมการแข่งขันตอบคำถามสารานุกรมไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด   ทำให้นักเรียนของโรงเรียนรัตนศึกษาเป็นนักคิด นักตั้งคำถาม นักค้นคว้า นักสร้างสรรค์  พวกเขาจึงประสบความสำเร็จในการเรียนและสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้

—————————————————————————————————

ขอบคุณที่มา : ดร.ณิชา  ฉิมทองดี  ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนศึกษา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ข่าวการศึกษา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *